Sunday, 28 April 2024

ไกสอน พมวิหาน ໄກສອນ ພົມວິຫານ

ประวัติ
ไกสอน พมวิหาน มีชื่อภาษาเวียดนามว่า เหงียน กาย ซ็อง (เวียดนาม: Nguyen Cai Song)[1] หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เหงียน จี๊ มืว (Nguyễn Trí Mưu ) เป็นบุตรของนายล้วน หรือเหงียน จี๊ ลวาน (เวียดนาม: Nguyễn Trí Loan) เป็นชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ข้าราชการแปลภาษาที่สำนักงานผู้สำเร็จรัฐการฝรั่งเศสประจำแขวงสุวรรณเขต กับนางดก มารดาชาวลาว[2][3] เกิดที่บ้านนาแซง เมืองคันธบุรี (ปัจจุบันคือเมืองไกสอน พมวิหาน) แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว มีน้องสาวสองคน คือ นางสุวรรณทอง อาศัยอยู่ในประเทศไทย และนางกองมณี อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา[3]

เมื่ออายุ 7 ปี ได้เข้าเรียนโรงเรียนประถมศึกษาภาษาลาวที่บ้านเหนือ (ปัจจุบันคือบ้านไซยะพูม) ต่อมาเข้าเรียนโรงเรียนประถมภาษาฝรั่งเศสที่บ้านใต้ (บ้านท่าแฮ่) เมื่อเรียนจบชั้นประถมเมื่อปี ค.ศ. 1934 ได้เข้าเรียนมัธยมศึกษาที่ลีเซดูว์พรอแต็กตอรา (Lyceé du Protectorat ) กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเรียนจบวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1942 ได้สอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาแพทย์ตามคำแนะนำของพ่อ แต่เมื่อได้เรียน เนื่องจากวิชาดังกล่าวไม่ถูกกับบุคลิก และความชอบในวิชาชีพ เขาจึงได้เปลี่ยนมาเรียนวิชากฎหมายแทน

การเรียนวิชากฎหมาย ทำให้เขาได้เรียนรู้กลไกการปกครองแบบหัวเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ได่เรียนรู้เกี่ยวกับขบวนการต่อสู้ของนักเรียนนักศึกษาที่รักชาติต้านลัทธิล่าเมืองขึ้น ในช่วงนั้น ขบวนการเวียดมินห์ ภายใต้การนำพาของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน โดยประธานโฮจิมินห์ ไกสอนได้ศึกษาเอกสารสิ่งพิมพ์ที่เป็นเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ เช่น เลอทราวาย (Le Travail ), หนังสือทฤษฎีปฏิวัติ ซึ่งในนั้นรวมทั้งมติของกองประชุมสากลคอมมิวนิสต์ ค.ศ. 1919 และหนังสืออื่น ๆ เกี่ยวกับโซเวียต เงื่อนไข และสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการต่อสู้ของเวียดมินห์ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวคิด และเส้นทางชีวิตของเขา เขาเคยมีความเห็นว่า การเคลื่อนไหวของเวียดมินห์ได้ทำให้เขาเกิดแนวคิดรักชาติและอยากให้ประเทศเป็นเอกราช

ค.ศ. 1944 ไกสอนได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมวัยหนุ่มกู้ชาติเวียดมินห์ เขาได้ร่วมกิจกรรมของสมาคมนี้อย่างมากมาย ทำให้เขาได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวของเวียดมินห์ มาถึงเวลานี้ ไกสอน พมวิหาน ไม่เพียงแต่เป็นนักรักชาติที่มีสติตื่นตัวแล้วเท่านั้น แต่หากยังมีแนวคิดปฏิวัติอีกด้วย

ค.ศ. 1945 สภาพการของโลกได้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบโดยตรงต่อชะตากรรมของบรรดาประชาชาติอินโดจีน ต้นเดือนมีนาคม 1945 ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้จัดกองประชุมขึ้น เพื่อตระเตรียมเงื่อนไขอันจำเป็นให้แก่การลุกฮือขึ้นยึดอำนาจการปกครอง เอาเอกราชแห่งชาติมาให้บรรดาประเทศในอินโดจีน

วันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 กองทัพแดงโซเวียตได้รับชัยชนะกองทัพฟาสซิสต์เยอรมัน ทำให้เป็นโอกาสอันอำนวยสำหรับการลุกฮือขึ้นยึดอำนาจได้เกิดขึ้นสำหรับประชาชนในแหลมอินโดจีน ไกสอนซึ่งก็มาถึงสุวรรณเขตไม่กี่วันก็ได้เคลื่อนไหวค้นหานักรักชาติในขบวนการลาวอิสระ ทั้งดำเนินการปลุกระดมและจัดตั้งชาวหนุ่มลาวและเวียดนามต่างด้าวเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้ยึดอำนาจที่สุวรรณเขต

ตามบทเขียนของสีซะนะ สีสาน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าร่วมในขบวนนั้นให้รู้ว่า “ในขณะนั้น สหายไกสอน พร้อมด้วยคณะผู้แทนชาวสุวรรณเขต ได้ไปหาพวกญี่ปุ่น และทวงให้ญี่ปุ่นมอบอำนาจให้แก่ชาวลาว ในที่สุดในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1945 พวกญี่ปุ่นก็ได้ยอมมอบปืน 120 กระบอก พร้อมลูกปืนหลายหีบให้แก่ชาวสุวรรณเขต กองกำลังประกอบอาวุธประชาชนได้รับการจัดตั้งขึ้นในทันที และพร้อมกันนั้น ประธาน ไกสอน และผู้เขียน (สีซะนะ) ก็ได้พากันออกไปบ้านบอกให้บรรดากำลังประกอบอาวุธ “ลาวอิสระ” เข้ามาสุวรรณเขต เพื่อสมทบกับกำลังประกอบอาวุธประชาชนที่ได้จัดตั้งไว้ก่อนแล้วให้เป็นกำลังประกอบอาวุธอันเดียวกัน ภายหลังที่การยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว ท่านไกสอน พมวิหาน ก็ได้รับผิดชอบแผนกแถลงข่าวของแขวง”

วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1945 พวกทหารฝรั่งเศสได้บุกโจมตีเข้าตัวเมืองสุวรรณเขต พวกเขาได้ถูกตอบโต้คืนอย่างแข็งแรงจากกำลังประกอบอาวุธประชาชน ต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 เขาได้เป็นเจ้าการเคลื่อนไหวปลุกระดม และจัดตั้งมวลชนชาวสุวรรณเขตเกือบ 2,000 คนเข้าร่วมในพิธีต้อนรับเสด็จเจ้าสุภานุวงศ์ที่ได้เดินทางมาจากประเทศเวียดนาม ผ่านสุวรรณเขต เพื่อไปเข้าร่วมในคณะรัฐบาลลาวอิสระที่เวียงจันทน์

ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 เขาได้ออกเดินทางจากสุวรรณเขตไปฮานอย เพื่อรวบรวมชาวลาวที่อาศัยอยู่เวียดนามเข้าร่วมการต่อสู้ เวลาอยู่ฮานอย เขาได้เข้าทำงานที่วิทยุกระจายเสียงเวียดนาม ภาคภาษาลาว ทำหน้าที่เขียนบทข่าวโฆษณา เขียนบทวิจารณ์ แปลข่าวจากภาษาเวียดนามและภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาลาว บางครั้งเขายังเป่าแคนออกทางวิทยุกระจายเสียงอีก ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1946 ไกสอนได้เข้าร่วมทำงานในคณะติดต่อลาว-เวียดนามที่ฮานอย องค์การนี้เป็นองค์การรวบรวบคนลาวที่อยู่ฮานอยและแขวงต่าง ๆ ของเวียดนาม เพื่อจัดตั้งองค์การกู้ชาติของคนลาวที่อยู่ในเวียดนามหรือที่อพยพไปเวียดนาม

ไกสอนในยุคต่อสู้กับพวกจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นทั้งเก่าและใหม่ ร่วมกับผู้นำคนอื่น ๆ ได้แก่ เจ้าสุภานุวงศ์, หนูฮัก พูมสะหวัน, คำไต สีพันดอน ไกสอนเป็นผู้นำในการต่อสู้ทางการทหารเข้ามาในภารกิจปลดปล่อยชาติ โดยใช้ยุทธวิธี “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” สร้างตั้งพรรคประชาชนลาว โดยเขาเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคนแรก โดยในช่วงนั้นพรรคดำเนินงานอย่างปิดลับ โดยแนวลาวฮักซาดเป็นตัวแทนให้กับพรรค จนสามารถปลดปล่อยประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์ จนประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อ พ.ศ. 2518 พรรคจึงดำเนินงานอย่างเปิดเผย เขาดำรงตำแหน่งนี้จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2535

ไกสอน พมวิหาน เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกที่จังหวัดหนองคาย และเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศลาวด้วย แต่เขาถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน หนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศคนต่อมาจึงได้ร่วมพิธีเปิดสะพานมิตรภาพแทน

พ.ศ. 2553 เป็นปีที่ไกสอน พมวิหาน มีอายุครบ 90 ปี พรรคและรัฐบาลลาวได้จัดงานเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะครอบครัวพมวิหาน นำโดยนางทองวิน พมวิหาน ภริยา ได้จัดพิธีอุทิศส่วนกุศลที่บ้านของเขา ในวันที่ 9 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 มีการสวดพระปริตมงคล ตอนเช้าถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ 9 รูป ส่วนงานที่เป็นรัฐพิธี จัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม

ปัจจุบันอัฐิของเขาได้ประดิษฐานไว้ร่วมกับผู้นำในอดีตคนอื่น ๆ ณ สุสานแห่งชาติ หลัก 24 เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์

อนุสรณ์สถานไกสอน พมวิหาร
อนุสรณ์สถานไกสอน พมวิหาร ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือท่าด่านประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นอนุสรณ์สถานของไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศซึ่งเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวลาว เพราะได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไว้เป็นจำนวนมาก โดยเป็นผู้นำในการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสและการปกครองระบอบกษัตริย์ที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง และประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ปัจจุบันประชาชนชาวลาวโดยเฉพาะในแขวงบ่อแก้ว เดินทางไปเคารพอนุสรณ์สถานของเขาอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ไกสอน_พมวิหาน

error: ห้าม Copy !!